แนะนำผลงาน

ของเล่นชุดนี้ออกแบบเพื่อส่งเสริมการเล่นบทบาทสมมติและการเรียนรู้เชิงสังคมวัฒนธรรมไทย ให้เด็กวัยประถมศึกษาเล่นประกอบสร้างบ้านไม้แบบเรือนไทย (ภาคกลาง) ของชาวนาไทยด้วยตัวเอง มีแท่งไม้ 51 ชิ้น (เสา คาน รอด พรึง) พร้อมแผ่นผนัง พื้น หลังคา ลานบ้าน พื้นนา และตัวละครครอบครัวลุงเจิด ให้เด็กเล่นคนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่มได้อย่างอิสระ สามารถสร้างเรือนไทยได้แบบห้องเดียวถึงสามห้อง (ห้องนอน, ห้องครัว, ห้องโถง) แต่ละห้องมีข้าวของเครื่องใช้ให้หยิบเล่นได้ ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญา สังคม และอารมณ์ และช่วยปลูกฝังความรู้เรื่องภูมิปัญญาไทยโบราณด้านการสร้างบ้าน (การเซาะร่องและเข้าเดือยไม้) อาชีพและวิถีชีวิตชาวนาไทย 

เบื้องหลังแนวคิด

อยากให้เด็กได้เล่นของเล่นไม้ และเห็นของเล่นบ้านตุ๊กตาของฝรั่งมีหลายแบบ จึงลองสร้างของเล่นบ้านไม้แบบเรือนไทยประยุกต์ขึ้นมา ใช้ไม้เนื้อแข็งและผ้ามัดย้อมเพราะอยากให้ดูเป็นธรรมชาติ เพื่อเด็กวัยประถมศึกษาจะได้เรียนรู้โครงสร้างพื้นฐานของการประกอบเรือนไทย (เข้าลิ่ม ขัดเดือย) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแต่โบราณ และอยากให้เด็กเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาไทยภาคกลางว่ามีความเป็นอยู่อย่างไรควบคู่ไปด้วย 

แรงบันดาลใจ

ส่วนตัวเราชื่นชอบวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อน ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่บรรพบุรุษปู่ย่าตายายกว่าจะเรียนรู้จากชีวิตประจำวัน แล้วสั่งสมสืบทอดกลายเป็นวิถีชีวิตที่เราเห็นนั้น น่าประทับใจมาก เช่น การสร้างบ้านด้วยไม้นำมาขัดกันแบบเซาะร่องเข้าเดือย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ตะปูหรือการหล่อปูน แต่บ้านแข็งแรงเหมาะกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศแต่ละท้องถิ่นอย่างลงตัว เราสังเกตว่าบ้านในปัจจุบันนิยมสร้างเเบบโครงสร้างสมัยใหม่มากขึ้น แทบจะหาบ้านเรือนไทยแบบโบราณซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยได้ยาก เราจึงอยากทำของเล่นที่ช่วยถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับเรือนไทย ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ให้เด็กสมัยใหม่ได้รู้จักต่อไปเพื่อจะได้คุ้นเคย และไม่ปล่อยให้มันจางหายไปตามกาลเวลา

กระบวนการทำงานและอุปสรรค 

ผลงานชิ้นนี้ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับเรือนไทยให้ดี ขั้นต่อไปคือคิดการออกแบบให้ละเอียด ตั้งแต่ร่างภาพแบบบ้านเรือนไทยที่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นของเล่นประกอบสร้างสำหรับเด็ก จากนั้นนำแบบมาทำเป็นโมเดลจำลองชิ้นเล็ก ลองเล่นดูทุกชิ้นส่วน ก่อนจะลงมือสร้างชิ้นงานจริง ขั้นตอนการตัด ขัด เซาะร่อง ชิ้นไม้ทั้งหมดถือว่ายากที่สุด เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ไปติดต่อจ้างร้านทำไม่ได้ เราต้องลงมือทำเองเกือบทั้งหมด อุปกรณ์ช่างไม้ก็หาซื้อยาก ขั้นตอนที่ง่ายกว่าคือการมัดย้อมผ้าดิบให้ได้ลวดลายและสีตามต้องการ (ใช้สีจากพืชธรรมชาติเพื่อให้ได้สีแบบไทยโทน-Thai Tone) แล้วนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นฉากห้องนอน ห้องครัว ลานบ้าน ตัวละครต่าง ๆ เสร็จแล้วเมื่อได้ชิ้นงานก็ต้องคิดกล่องเก็บให้ดูเป็น package เดียวกัน เพราะสื่อชุดนี้ต้องเคลื่อนย้ายได้สะดวกแม้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก (ประมาณ 10 กิโลกรัม)

วิธีแก้ปัญหา

เมื่อออกจากบ้านไปหาซื้ออุปกรณ์ช่างไม้ได้ยาก เราจึงพยายามประยุกต์วัสดุและอุปกรณ์เท่าที่หาได้ในบ้านมาใช้แทนเป็นเครื่องมือช่างจำเป็น นอกจากนี้ก็ต้องบริหารเวลาทำงานแต่ละขั้นตอนให้ดี เราจัดตารางการทำงานเพื่อให้สามารถทำงานเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด

เอกลักษณ์ของผลงาน

ในขั้นตอนการคิดหัวข้องานเพื่อเสนออาจารย์ เราต้องสำรวจข้อมูลก่อนว่าสิ่งที่เราอยากทำ ในตลาดมีอะไรอยู่แล้วบ้าง งานของเราจะต่างจากของเหล่านั้นอย่างไร เราก็ไปสำรวจพบว่าบ้านของเล่น (toy house) สำหรับเด็กไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ที่ขายมีแต่บ้านทรงยุโรป หรือไม่ก็เป็นบ้านเรือนไทยจิ๋วแบบโมเดลจำลองที่ขายเป็นสินค้าที่ระลึกสำหรับผู้ใหญ่ ให้ซื้อไปวางโชว์ประดับบ้านอย่างเดียว เล่นไม่ได้ 

เราว่า นอกจากของเล่นไม้ ‘ชุด บ้านลุงเจิด’นี้จะเป็นของเล่นบ้านไม้ที่ประยุกต์แบบจากเรือนไทยโบราณ ให้เด็กเรียนรู้เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของการประกอบเรือนไทย และได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาไทยแล้ว ของเล่นชุดนี้ออกแบบและสร้างจากไอเดียเราเองล้วน ๆ เราคิดเอง ทำเองด้วยมือทุกชิ้น ทั้งออกแบบหน้าตาของบ้าน กำหนดขนาด เลือกชนิดของไม้ ตัดรูปทรงชิ้นไม้ คิดวิธีการประกอบบ้านให้ง่าย เรายังลงมือมัดย้อมผ้าดิบเพื่อเย็บผนัง หลังคา พื้นบ้าน และข้าวของเครื่องใช้ในบ้านทุกชิ้นเอง จึงมั่นใจว่างานเรามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครแน่นอน

อธิบายตัวอวตาร

ตัวอวตารของเราคือเต่ามะเฟืองแห่งพาลาพาลา เป็นทายาทผู้เหลือรอดของเผ่าพันธุ์ เต่าตัวนี้พยายามผลิตไข่วิเศษจำนวนมากเพื่อให้เผ่าพันธุ์ของมันอยู่รอดต่อไปได้ในอนาคต 

“ณ พาลาพาลาพารา นักสร้างสรรค์เต่ามะเฟืองทายาทผู้เหลือรอดของเผ่าพันธุ์ ​พยายามผลิตไข่วิเศษเพื่อให้เผ่าพันธุ์​ของตนเองอยู่รอดต่อไปได้ในอนาคต”

ภราดา อุปรา​สิทธิ์​ (เอย)
bharada.oey@gmail.com