แนะนำผลงาน

‘โครงการหุ่นสร้างสรรค์ นิทานไทยหรรษา’ เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับนิทานไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น กิจกรรมในโครงการจัดขึ้นในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการด้วยการเล่านิทานผ่านการแสดงละครหุ่นมือโดยการนำนิทานไทยอย่างนิทานพื้นบ้านมาดัดแปลงเป็นละครนิทานสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะทางสังคมแก่ผู้เข้าร่วมโครงการรวมถึงสร้างความบันเทิงจากการบูรณาการนิทานไทยกับสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นอีกด้วย

แรงบันดาลใจ

เริ่มต้นจากการที่เราเองชื่นชอบนิทานพื้นบ้านรวมถึงละครพื้นบ้าน และรู้สึกว่าปัจจุบันเด็กไทยก็รู้จักนิทานพื้นบ้านน้อยลง ทำให้เราอยากทำงานที่เป็นการเผยแพร่นิทานพื้นบ้านให้เข้าใจง่าย สนุก และเข้ากับเด็ก ซึ่งเราเป็นคนที่ชอบเล่านิทานและทำกิจกรรมกับเด็กด้วย เลยเอาทุกอย่างที่ตัวเองชอบ ทำได้ดีและเป็นตัวของตัวเองมาใส่ในธีสิสนี้ จนสุดท้ายก็กลายมาเป็น ‘โครงการหุ่นสร้างสรรค์ นิทานไทยหรรษา’

กระบวนการทำงานและอุปสรรค 

เริ่มจากคิดก่อนว่าในโครงการอยากให้มีอะไรบ้าง กลุ่มเป้าหมายคือใคร ทำทั้งหมดกี่ครั้ง กี่วัน ระยะเวลาเท่าไร พอทุกอย่างลงตัวก็เริ่มหาสถานที่ ทั้งโรงเรียน ห้องสมุด มูลนิธิ บ้านเด็กอ่อน ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงที่สงขลาภูมิลำเนาของตัวเองด้วย แล้วก็ลองลงพื้นที่ไปสำรวจว่าเด็กแต่ละวัยต้องการอะไร สนุกกับอะไร แล้วเอามาปรับกับกิจกรรม พอตัดสินใจทำหุ่นมือ ก็ต้องเอาหุ่นมือไปทดลองทำกับเด็กก่อนที่จะทำโครงการจริง จากนั้นก็มาทำงานเอกสาร เตรียมกิจกรรม ลงไปทำโครงการแล้วก็สรุปผล ส่วนอุปสรรคหลักของเราเป็นเรื่องของสถานที่ เพราะช่วงที่หาคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โรงเรียนเริ่มปิดเทอม และสถาบันอื่น ๆ ก็จัดโครงการสำหรับเด็กเหมือนกัน เลยหาสถานที่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ จึงตัดสินใจกลับไปจัดที่โรงเรียนบ้านควนหมาก จังหวัดสงขลา ถือว่าได้กลับไปเยี่ยมบ้านด้วย อีกทั้งมีเรื่องการจัดโครงการที่พอได้จัดจริง ๆ ก็จะมีปัญหาเฉพาะหน้ามาให้แก้เกือบทุกวัน ถือเป็นอุปสรรคที่ท้าทายมาก ปัญหาสุดท้ายคือสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ซึ่งถือว่าโชคดีมากที่เราจัดโครงการเสร็จก่อนที่จะ Lock down ประเทศ จากที่ต้องเข้าไปคุยงานกับอาจารย์ที่ปรึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยก็กลายเป็นต้องคุยงานผ่านทางออนไลน์และกักตัวอยู่แต่ในห้อง งานที่วางแผนไว้หลังจากกลับจากจัดโครงการที่จังหวัดสงขลาก็เลยต้องปรับใหม่ทั้งหมด

วิธีแก้ปัญหา

ถ้าเป็นปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างจัดโครงการ อย่างการพยายามดำเนินกิจกรรมให้ราบรื่นก็จะพยายามมีสติและลองคิดหาทางออก รวมถึงปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาและเพื่อนที่ไปเป็นผู้ช่วยในการจัดโครงการ หากิจกรรมเสริมเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เคยวางแผนไว้ สลับกิจกรรมในแต่ละวัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้การทำกิจกรรมออกมาราบรื่นที่สุด

เอกลักษณ์ของผลงาน

เป็นงานที่เราเองพยายามรวมความเป็นตัวของตัวเองที่สุด เพราะเราชอบทำกิจกรรมกับเด็ก ชอบเล่านิทาน ชอบคิดบทแสดงละคร ชอบเย็บผ้าทำหุ่นมือ ทุกอย่างที่เราชอบและทำได้รวมอยู่ในโครงการธีสิสนี้ทั้งหมด โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่นำนิทานพื้นบ้านมาดัดแปลงเป็นกิจกรรม ซึ่งนิทานที่นำมาให้น้อง ๆ แสดงบางเรื่องก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักด้วย

เราคิดว่าตุ๊กตาหุ่นผ้าปะคือตัวแทนของเราเอง เพราะธีสิสของเรากว่างานจะสมบูรณ์ก็มีข้อผิดพลาด อาจจะวางแผนไม่ค่อยรอบคอบ แล้วก็ต้องได้รับการแก้ไข เหมือนตุ๊กตาที่ขาดหรือมีปัญหาก็ต้องได้รับการซ่อมแซม แต่ก็ยังทำหน้าที่ตุ๊กตาที่อยากส่งต่อนิทานไทยให้คนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

 มธุรส เกลี้ยงจันทร์ (น้ำผึ้ง)
nampeung1455@gmail.com