แนะนำผลงาน

วันนี้ลุงกระต่ายปิดร้านขายขนมไทย แต่ก็ไม่อยู่ว่าง เพราะลุงกระต่ายกับหลานกระต่ายช่วยกันทำขนมน้ำดอกไม้ (ขนมชักหน้า) ไปเยี่ยมคุณยาย ตั้งแต่ตักแป้ง เทน้ำตาล กวน ผสมน้ำลอยดอกมะลิ เก็บใบเตย ดอกอัญชัน ดอกกระเจี๊ยบในสวน มาคั้นน้ำเป็นสีผสมอาหาร แล้วนึ่งจนสุก เสร็จแล้วยังไปช่วยญาติกระต่ายตัวอื่นทำขนมไทยอีกหลายอย่างไปฝากคุณยาย เด็กผู้อ่านจะเพลิดเพลินไปกับการทำขนมไทยทีละขั้นตอน ได้รู้จักชื่อและหน้าตาขนมไทยอีก 20 อย่าง เช่น ทองเอก (กระจัง) เสน่ห์จันทร์ ฝักบัว ทองพลุ พร้อมกับอบอุ่นใจไปกับความรักที่พวกกระต่ายมีให้กัน

เบื้องหลังแนวคิด

ขนมไทยใช้ส่วนผสมไม่กี่อย่าง ขั้นตอนการทำต้องประณีตจึงจะอร่อย แต่กลับขายราคาถูกกว่าขนมเบเกอรี่มาก เราอยากให้คนทั่วไปเปิดใจรับขนมไทยว่ามีความหลากหลายและน่าสนใจ ขนมไทยก็เหมือนอาหารทั่วไป เช่นผัดกะเพรา บางทีเราซื้อร้านนี้ไม่อร่อย ก็แค่เปลี่ยนร้านลองใหม่ โดยไม่ควรหมดศรัทธาที่จะเลิกกินผัดกะเพรา เราอยากให้คนคิดกับขนมไทยแบบนี้ จึงคิดว่าถ้าสร้างสรรค์งานแล้วช่วยให้คนเปิดใจรับสิ่งที่ตัวเราเองชอบมากขึ้นก็คงดี

แรงบันดาลใจ

เราชอบกินขนมไทย ถึงไม่ได้ชอบทุกอย่างแต่ก็พยายามเปิดใจลองกินให้ได้หลาย ๆ อย่าง ถ้าชิมแล้วไม่ชอบก็แค่ไม่กินอีก แต่เราเคยได้ยินคนที่พูดออกมาเลยว่า ‘ไม่กินขนมไทย’ ทั้งที่เขายังไม่เคยกิน เราจึงสะดุดใจ คิดว่าอยากให้เขาลองกินขนมไทยดู ไม่ชอบไม่ว่า แต่ควรจะลองเปิดใจรับขนมไทยสักนิด

กระบวนการทำงานและอุปสรรค 

เราทำงานช้ามาก เพราะมีช่วงเวลาที่ความคิดตีบตัน ไม่รู้จะทำงานต่ออย่างไรดี จึงหยุดทุกอย่างไม่ทำอะไรบ่อยมาก ซึ่งเพื่อนหลายคนที่ทำธีสิสก็เป็นกันเยอะ คงเพราะงานของเราต้องปรับแก้เยอะมาก แทบจะเปลี่ยนรูปแบบจากความคิดแรกที่คิดไว้โดยสิ้นเชิง เดิมเราไม่คิดจะแต่งนิทาน จะเขียนสารคดีสำหรับเด็กโดยไม่มีเนื้อเรื่อง แต่ก็ต้องปรับเนื้อหามาเป็นการแต่งเนื้อเรื่อง และมีตัวละครช่วยดำเนินเรื่อง เพราะว่าช่วยสื่อสารเนื้อหาได้ตรงความสนใจของเด็กมากกว่า

วิธีแก้ปัญหา

ถึงจุดหนึ่งที่รู้ว่าถึงอย่างไรก็ต้องทำงานให้เสร็จ เราก็พยายามสนุกกับสิ่งที่ทำ ซึ่งกลายเป็นว่าดีมากเลยที่เราปรับแก้เนื้อเรื่อง และปรับแก้ภาพประกอบหลายครั้ง เพราะทำให้งานดีขึ้นกว่าเดิมจริง ๆ ระหว่างการแก้งานเราต้องถามตัวเองตลอด ว่าสิ่งที่เราอยากได้จริง ๆ กับคำแนะนำมากมายที่ได้รับมา ถ้าเราปรับตามเราจะยังสนุกที่จะทำงานต่อไหม ถ้าเรายอมปรับแก้งานก็ต้องพยายามหาจุดอะลุ้มอล่วยตรงกลาง ให้งานยังคงแสดงความเป็นตัวเราไว้ให้ได้ แต่ถ้าเราจะไม่ปรับแก้งานเลย ก็อาจจะสร้างผลงานที่สื่อความคิดได้ไม่ดีพอที่คนอ่านจะเข้าใจ ก็ต้องทำใจยอมรับความจริงว่าบางอย่างที่เราคิดยังไม่สมบูรณ์พอ เราควรปรับเปลี่ยนงานได้ตามคำแนะนำ

เอกลักษณ์ของผลงาน

เราพยายามสร้างบรรยากาศเชิงบวกในเนื้อเรื่อง ให้คนอ่านรู้สึกว่าขนมไทยน่าสนใจ ถ้าทำกินเองคงสนุกดี และเนื้อเรื่องก็อบอุ่นใจ เราคิดว่าน่าจะมีคนสักกลุ่มที่ชอบและสนใจขนมไทยเหมือนกับเราชอบเรื่องนี้

อธิบายตัวอวตาร

เขาคือ ‘ลุงกระต่ายผู้สร้างสรรค์ปิ่นโตขนมไทยสารพัดนึก’ เพราะขนมไทยที่ลุงกระต่ายทำ จะมีรสชาติเป็นรสเฉพาะให้คนแต่ละคนไม่ซ้ำกันเลย หากใครได้กินคนนั้นต้องชอบขนมรสแบบนั้นแน่ ๆ ถ้ามีขนมที่รสชาติสารพัดนึกตามใจคนกินได้จริง ๆ น่าจะมีคนชอบกินขนมไทยมากขึ้น เพราะได้กินรสแบบที่ตัวเองชอบจริง ๆ

“ลุงกระต่ายสร้างสรรค์ปิ่นโตขนมไทยสารพัดนึก ที่คิดไว้คือขนมที่ลุงกระต่ายทำ จะมีรสชาติที่เป็นรสเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งคนคนนั้นต้องชอบรสแบบนี้แน่ๆ ถ้ามีแบบนี้จริงๆ น่าจะมีคนชอบกินขนมไทยมากขึ้น”

นัยนา บรรณคร (นิว)
naiyanabanna@gmail.com