แนะนำผลงาน
“Thursday พบกันวันพฤหัสบดี” เป็นวรรณกรรมเยาวชนแนวสมจริง ที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เฟิร์ส’ และ ‘ฟรอนท์’ เด็กสาวสองคนในรั้วโรงเรียนเดียวกัน ทั้งสองคนเกิดวันพฤหัสบดี มีชื่อจริงว่า ‘จิรัชญา’ ทั้งคู่ เรียนอยู่ชั้น ม. 5 สายวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่นอกจากนี้แล้วเรียกได้ว่าพวกเธอต่างกันโดยสิ้นเชิง เฟิร์สเป็นเด็กแถวหน้าผู้มีผลการเรียนโดดเด่น ส่วนฟรอนท์เป็นเด็กหลังห้องที่ชอบวาดรูปเล่นในกระดาษทดเป็นชีวิตจิตใจ ต่างคนต่างใช้ชีวิตในโลกของตัวเองที่อีกฝ่ายไม่เคยมีตัวตนอยู่ จนกระทั่งพวกเธอต้องกลายมาเป็นคู่หูเฉพาะกิจเพื่อเข้าแข่งขันในงานวิชาการ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนเรื่องราว แบ่งปันพื้นที่ชีวิต เติมเต็มซึ่งกัน และกันทุกวันพฤหัสบดีนั่นเอง
แรงบันดาลใจ
“เราติดอยู่ตรงนั้น มีแค่อยู่ตรงนั้นกับถอยหลังลงมา ทำได้ก็ธรรมดา ทำดีก็ธรรมดา ถ้าทำพลาดสิถึงจะเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะแบบนั้น เราเลยทำใจยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้ เกลียดแสนเกลียดสายตาของหลายๆ คนที่มองมาว่าทำไมเป็นเราที่ทำไม่ได้ ทำไมเป็นเราที่พลาด ความสำเร็จของเรามันจะน่ายินดีเท่ากับคนที่ไม่ได้เก่งมาตั้งแต่แรกหรือเปล่า”
ผลงานชิ้นนี้มีที่มาที่ไปจากเรื่องราวของตัวเองล้วน ๆ ตอนแรกเลยที่กำลังคิดว่าจะทำอะไรเป็นผลงานวรรณกรรมสำหรับเด็กนิพนธ์ก็บังเอิญเจอข้อความนี้ในบันทึกส่วนตัว ซึ่งเป็นข้อความที่ทำให้หวนย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องราวของตัวเองเมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ช่วงที่เราต้องเผชิญหน้ากับความผิดพลาดครั้งแรกแบบไม่ทันได้ตั้งตัว จากเคยเป็นเด็กที่ทำทุกอย่างได้ดีมาตลอด เป็นนักเรียนที่ได้รับคำชื่นชม เป็นคนที่รับผิดชอบหน้าที่หัวหน้าห้องมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล เคยเป็นประธานนักเรียน เป็นผู้นำในกิจกรรมต่าง ๆ ผู้คนรอบตัวมองผู้เขียนว่าเป็นคนเก่งไปเสียหมด ฟังดูแล้วก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี และไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จนกระทั่งวันที่ก้าวเข้าไปเรียนในสายการเรียนที่ไม่ถนัด เพียงเพราะเชื่อว่าจะมีตัวเลือกมากมายกว่าสายการเรียนอื่นอย่างที่คนอื่นเขาว่ากัน วันหนึ่ง เราสอบได้คะแนนน้อยอย่างไม่น่าให้อภัย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักเรียนที่เรียนอ่อนของห้องตามการแบ่งกลุ่มของคุณครู
“เราไม่เก่งอีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่คนเก่งอีกต่อไป”
และแล้วก็เจอจนได้ เจอเรื่องที่ทำไม่ได้ ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนพลัดตกจากที่สูงลงมากระแทกพื้นอย่างแรง เราทำใจยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้ และรู้สึกแย่เมื่อคนรอบตัวมีท่าทีตกใจที่เราสอบตก เอาแต่พูดว่าไม่คิดเลยว่าจะเป็นเราที่ทำไม่ได้ ประสบการณ์ในตอนนั้นยังคงส่งผลกระทบต่อตัวตนมาจนปัจจุบัน บ่อยครั้งที่ย้อนกลับไปนึกถึงแล้วก็ร้องไห้ออกมาได้ง่าย ๆ กลัวสายตาของผู้คน กลัวคำพูด กลัวความคาดหวังจากคนรอบตัวไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เกิดภาวะกดดันตัวเองในหลายครั้งหลายคราว เจ็บปวดซ้ำไปซ้ำมากับความคาดหวังของตัวเอง และคนรอบตัว
แม้เวลาจะผ่านมานานมากแล้ว เรากลับไม่สามารถก้าวข้ามผ่านเรื่องนี้ไปได้ ถึงขนาดที่ว่าอุตส่าห์พยายามคิดหาเรื่องอื่นที่อยากทำเป็นสารนิพนธ์ ใจก็ยังวนเวียนคิดถึงแต่เรื่องของตัวเองในอดีตทั้งที่ยังคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาแบบไหน จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เลยตัดสินใจได้ว่า เอาล่ะ ในเมื่อก้าวไปไหนไม่ได้ ไหน ๆ การทำสารนิพนธ์ครั้งนี้ก็จะเป็นโอกาสที่จะได้ทำงานที่ถ่ายทอดความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ ก็อยากจะลองเปลี่ยนความเจ็บปวด ความหลังฝังใจของตัวเองให้กลายเป็นผลงาน
พอเริ่มต้นการร่างโครงเรื่อง และเขียนเรื่องที่อยากจะเล่าลงไปได้ไม่เท่าไร เรามีความกังวลว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันจะเข้าใจหรือเปล่า และคิดได้ว่านอกเหนือไปจากตัวเราแล้ว ทุกคนเองก็มีปัญหาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เรียนดีจนรู้สึกกดดันตัวเอง หรือเด็กที่ถูกมองว่าเป็นเด็กหลังห้องที่ไม่ใส่ใจเรื่องการเรียน ตัวเราเองก็ไม่อยากจะละเลยเรื่องราวตรงนี้ไป และคิดว่าคงจะดีไม่น้อยถ้าคนที่เจอประสบการณ์ต่างกันได้มาใช้เวลาร่วมกัน ทำความเข้าใจซึ่งกัน และกันมากขึ้น จากเรื่องราวที่เป็นของเรา หรือแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราอยากให้เป็นเรื่องราวของเด็ก ๆ อีกหลายคน เป็นเรื่องราวของทุกคน เป็นเรื่องราวที่ไม่ว่าใคร มีประสบการณ์แบบไหนมาก็สามารถอ่านได้ เราเลยพัฒนาผลงานด้วยความคิดนี้ จนกระทั่งกลายมาเป็น “Thursday พบกันวันพฤหัสบดี”
กระบวนการทำงานและอุปสรรค
ตอนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะสร้างสรรค์งานประเภทวรรณกรรมเยาวชนก็ค่อนข้างมีความกังวลอยู่พอสมควร เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้ถนัดงานเขียน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเขียนน้อย เขียนไม่เคยจบสักอย่าง อะไรที่เขียนขึ้นมาด้วยความชอบ ความอยากเขียนยังเขียนไม่จบ แล้วกับสารนิพนธ์ที่มีกำหนดเวลาส่งแน่นอน อย่างไรแล้วก็ต้องเขียนให้จบ เราจะไปทำได้อย่างไร ไหนจะเรื่องที่หยิบยกเรื่องราวของตัวเองมาเขียนทั้งที่ก็ไม่ค่อยชอบเล่าเรื่องของตัวเองให้ใครฟังเท่าไร มันก็ยิ่งยากไปกันใหญ่ ก่อนที่จะเริ่มลงมือวางโครงเรื่อง หรือเขียนได้ก็ต้องเริ่มจัดการกับความรู้สึกของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เขียนระบายความรู้สึกลงในกระดาษ เขียนสิ่งที่อยากจะบอก อยากจะเล่าในวรรณกรรมเรื่องนี้ แล้วจากนั้นค่อยนำไปสู่การออกแบบตัวละคร วางโครงเรื่อง และลงมือเขียนต่อไป ระหว่างการทำงานไปก็จะมีการปรับแก้ไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจตัวละคร มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปตลอดจนกระทั่งเขียนจบซึ่งแน่นอนว่าระหว่างการทำงานก็ไม่ได้ราบรื่นอยู่ตลอด ปัญหาหลัก ๆ ที่เจอคือการเขียนไม่ออก ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ในเรื่องราวตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ควรจะถ่ายทอดความรู้สึก หรือแง่มุมไหนลงไปในแต่ละบท
วิธีแก้ปัญหา
เวลาที่ประสบปัญหาในการทำงาน ไม่ว่าจะคิดไม่ออก หรือเขียนไม่ออก ไม่รู้ว่าจะเล่าเรื่องต่อไปอย่างไร หรือปรับปรุงแก้ไขผลงานตามคำแนะนำของตัวเองอย่างไร สิ่งแรกที่เราจะทำคือการพักผ่อน หาเวลาอยู่กับตัวเองเยอะ ๆ หรือไม่ก็เว้นจากการคิดไปชั่วคราว เพราะบางครั้งเวลาที่เราตั้งใจทำอะไรมาก ๆ เรามักจะกดดันตัวเอง และการกดดันตัวเองไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย กลับทำให้เกิดความเครียด ความกังวล พาลให้คิดไม่ออกยิ่งกว่าเดิม เวลาที่ประสบปัญหาแบบนี้ เราจะออกไปหาอะไรทำ พักการคิดเรื่องผลงานไว้ น่าแปลกที่ทุกครั้งที่หยุดคิด จะมีบางจังหวะที่คิดออกขึ้นมา หรือได้ไอเดียใหม่ ๆ ไปต่อยอดผลงานได้อย่างไม่น่าเชื่อ
การลองไปพูดคุยกับผู้คนที่มีประสบการณ์ หรือมุมมองที่แตกต่างจากเราก็ช่วยทำให้งานเราเดินหน้าได้มากทีเดียว ตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่องอย่างเฟิร์ส ถ่ายทอดมาจากความเป็นตัวเราแทบทั้งหมด ในขณะที่ตัวละครเอกอีกตัวอย่างฟรอนท์ เป็นตัวละครที่มีความแตกต่างจากเฟิร์สอยู่มาก เมื่อได้พูดคุยกับผู้คนรอบตัวถึงประสบการณ์วัยมัธยม เราก็ได้มองเห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป อีกด้านที่เราคิดไม่ถึง และทำให้เราเข้าใจตัวละครของเราเองมากขึ้น
เอกลักษณ์ของผลงาน
อันที่จริงเราคิดว่าผลงานของเรา “ธรรมดาเป็นพิเศษ” เป็นเรื่องราวของเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียน เรียบง่าย ไม่หวือหวา เป็นประสบการณ์ที่ผู้อ่านอาจจะเคยเจอกับตัว หรือมีคนรอบตัวที่คล้ายคลึงกับตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในเรื่องแต่เราคิดว่าการถ่ายทอดเรื่องราวโดยการสลับกันเล่าสองมุมมองระหว่างสองตัวละคร น่าจะทำให้ผู้อ่านได้มองเห็นแง่มุมใหม่ ๆ หรือรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่เราพยายามถ่ายทอดลงไปในเรื่อง และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านทุกคนจะค้นพบสิ่งพิเศษบางอย่างในเรื่องราวที่แสนธรรมดาของเรา
“เศษเสี้ยวของความทรงจำ และชิ้นส่วนความรู้สึกเล็ก ๆ มากมายในใจเป็นวัสดุในการสร้างพาลาพาลานี้ เราเริ่มต้นลงมือสร้างสรรค์ด้วยความคิดสะเปะสะปะไม่เป็นรูปเป็นร่าง และความมั่นใจติดลบ ลองผิดลองถูกอยู่นาน ทุลักทุเลไปบ้างตามประสานักสร้างสรรค์มือใหม่ ท้ายที่สุดเราก็ทำสำเร็จ ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ แต่เราก็คิดว่าสิ่งนี้จะเป็นเพื่อน เป็นกำลังใจให้กับใครสักคนที่กำลังวิ่งไล่ไขว่คว้าตัวตนที่สมบูรณ์แบบตามความคาดหวังของโลกนี้อยู่ เราหวังว่าเขาจะเติบโตอย่างเข้มแข็งทั้งกายใจ และเป็นตัวเองที่สมบูรณ์ตามอย่างที่ตัวเองอยากจะเป็นได้ในที่สุด”
พิชชากร พงศ์เมธีกุล (จาร์)
p.phitchakon@hotmail.com
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
BACHELOR OF ARTS PROGRAM IN CHILDREN’S LITERATURE
FACULTY OF HUMANITIES, SRINAKHARINWIROT UNIVERSITY
© All rights reserved by Bachelor of Arts Program in Children’s Literature 2020