แนะนำผลงาน

สื่อผ้าชุดนี้ออกแบบเหมือน ‘ร้านก๋วยเตี๋ยว’ มีเครื่องปรุงหลายแบบ (เส้นก๋วยเตี๋ยว-เส้นเล็ก เส้นหมี่ เส้นใหญ่ เส้นบะหมี่, ผัก-ถั่วงอก ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง, ลูกชิ้น-ปลา กุ้ง, ฮือก้วย หมึกแช่, หมูแดง, เกี๊ยวต้ม และน้ำซุป-น้ำใส น้ำเย็นตาโฟ น้ำตก) พร้อมภาชนะ-หม้อ เตา กระบวย ชาม จัดแบบร้านค้าแผงลอย เพื่อให้เด็กใช้จินตนาการสร้างสรรค์การเล่นบทบาทสมมติและการเล่นแบบร่วมมือ (เล่นขายก๋วยเตี๋ยวหลายชนิด) ในแบบของตัวเอง เครื่องปรุงทุกอย่าง มีกลไกกระตุ้นพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็ก เช่น ของทุกชิ้นเป็นผ้าสักหลาด ลูกชิ้นกุ้งใส่กระดิ่งข้างใน ผักสามารถเด็ดท่อนหรือติดกันด้วยตีนตุ๊กแก หมูแดงติดแถบแม่เหล็ก น้ำซุปเป็นแผ่นพลาสติกใสมองทะลุเห็นผักโรยหน้า เป็นต้น 

การทดลองใช้ต้นฉบับสารนิพนธ์วรรณกรรมสำหรับเด็ก ชุดของเล่นสื่อผ้าร้านก๋วยเตี๋ยว
สร้างสรรค์โดยนางสาว พรภัทรา นุตจรัส เมื่อวันที่ 15 ถึง 20 เมษายน 2563
ขอบคุณน้องปลาวาฬ 

เบื้องหลังแนวคิด

สื่อผ้า ‘ร้านก๋วยเตี๋ยว’ เป็นของเล่นผ้าให้เด็กเล่นทำอาหาร เล่นขายของ อิงจากความคิดที่ว่า “เด็กคือผู้ใหญ่ตัวเล็ก” จึงคิดวิธีนำเสนอสื่อเหมือนเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวขนาดเล็กเหมาะกับขนาดตัวของเด็ก เด็กจะได้เล่นขายก๋วยเตี๋ยวเหมือนเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยวจริง ๆ

แรงบันดาลใจ

แรงบันดาลใจในการทำธีสิสชุดนี้ เกิดจากตอนเรียนปี 1 มีโอกาสไปทำเวิร์คช็อปเรื่องการออกแบบสื่อผ้าสำหรับเด็กปฐมวัยที่ ‘มูลนิธิเมล็ดฝัน’ ตอนทำสื่อผ้ารู้สึกสนุกมาก จึงอยากทำธีสิสเกี่ยวกับของเล่นผ้า เหตุผลที่เลือกทำชุดร้านก๋วยเตี๋ยว เพราะก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารใกล้ตัวที่เด็กหลายคนน่าจะเคยกิน และอยากให้ของเล่นชุดนี้ทำให้เด็กสนุกกับการเล่นทำอาหารร่วมกับเพื่อนและคนในครอบครัว

กระบวนการทำงานและอุปสรรค 

ปัญหาที่เจอระหว่างการสร้างงานมีแต่ปัญหาเล็ก ๆ เช่น การทำแพทเทิร์นสามมิติ เพราะเรายังไม่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างแพทเทิร์น ทำให้ต้องลองผิดลองถูกหลายรอบกว่าจะได้แพทเทิร์นที่ใช้ได้จริง หรืออีกปัญหาที่เจอคือสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ออกไปซื้ออุปกรณ์ทำสื่อผ้าตามร้านค้าจริง ๆ ไม่ได้ ต้องสั่งซื้อแบบออนไลน์ การกำหนดสีและขนาดจึงคลาดเคลื่อน ต้องเสียเวลาปรับแก้ขนาดสิ่งของเครื่องปรุงหลายครั้ง ทำให้ใช้เวลาไปค่อนข้างมาก

วิธีแก้ปัญหา

การแก้ปัญหาตอนทำแพทเทิร์น พยายามหาตัวอย่างแพทเทิร์นที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับสิ่งที่ต้องการทำ มาลองทำดูหลาย ๆ แบบว่าแบบไหนเหมาะสมที่สุด ส่วนปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องใช้ เช่น หม้อต้ม กระบวย ชามและกล่องที่ออกแบบเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ก็พยายามวัดเทียบขนาดกับชิ้นงานในชุดสื่อที่สร้างไว้แล้ว เพื่อให้ขนาดสิ่งของทุกอย่างได้สัดส่วนเข้าชุดกันที่สุด อุปกรณ์ชิ้นไหนที่ออกไปซื้อที่ร้านได้ก็พยายามไปซื้อที่ร้านแทนการซื้อออนไลน์

เอกลักษณ์ของผลงาน

เป็นของเล่นที่กระตุ้นให้เด็กเล่นขายของได้เหมือนเป็นเจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยวจริง ๆ คือ หยิบจับเครื่องปรุงมาปรุงเป็นก๋วยเตี๋ยวได้หลายแบบ หรือเด็กจะเล่นทำอาหารอย่างอื่นที่นึกเองก็ได้ ขณะที่ของเล่นขายของสำหรับเด็กที่มีขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ เป็นการเล่นขายอาหารแบบเป็นชุดอาหารสำเร็จรูปแล้ว

อธิบายตัวอวตาร

ตัวอวตารของเราคือ ‘ลุงนักประดิษฐ์น้ำพุแห่งความอร่อย’ เราต้องการสื่อถึงการส่งต่อความสุข เพราะเวลาเราได้กินของอร่อยเราจะมีความสุข เด็ก ๆ ที่มาเล่นขายก๋วยเตี๋ยวกับเพื่อนและคนในครอบครัวด้วยสื่อผ้าชุดนี้ของเรา ก็เหมือนได้ส่งต่อความสุขและความอร่อยผ่านทางก๋วยเตี๋ยวแต่ละชามที่เด็กทำให้คนอื่น

“เราต้องการสื่อถึงการส่งต่อความสุข เพราะเวลาเราได้กินของอร่อยเราจะมีความสุข เด็ก ๆ ที่มาเล่นขายก๋วยเตี๋ยวกับเพื่อนและคนในครอบครัวด้วยสื่อผ้าชุดนี้ของเรา ก็เหมือนได้ส่งต่อความสุขและความอร่อยผ่านทางก๋วยเตี๋ยวแต่ละชามที่เด็กทำให้คนอื่น”

 

 

พรภัทรา นุตจรัส (ภัทร)
patt.ppattra@gmail.com