แนะนำผลงาน

เรื่องราวที่เกิดในช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนผัน แต่ขณะนั้นลูกโป่งมีอภิสิทธิ์เหนือสิ่งใด เป็นอิสระและล่องลอยออกไป มอบบางอย่างให้หุ่นยนต์บกพร่องที่มองเห็นมัน และเปลี่ยนผันชีวิตของหุ่นยนต์ตัวนั้นตลอดกาล

แรงบันดาลใจ

ดูสารคดีแล้วไปเจอเรื่องการใช้แรงงานเด็กจึงรู้สึกสะเทือนใจ และอยากนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านตระหนักถึงความโหดร้ายของการใช้แรงงานเด็กที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน โดยหยิบยกเรื่องราวของการใช้แรงงานเด็กในโรงงานผลิตลูกโป่ง มาเชื่อมโยงกับความสุขในวัยเด็กที่มีสัญลักษณ์เป็นลูกโป่งเช่นเดียวกัน เพราะเด็กเหล่านั้นนอกจากจะต้องถูกใช้แรงงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ยังสูญเสียวัยเด็กไปเพราะไม่มีเวลาไปเล่นสนุกหรือมีความสุขเหมือนเด็กทั่วไป มันน่าเศร้าที่เด็กเหล่านั้นผลิตลูกโป่งขึ้นมาแต่ไม่มีโอกาสได้เป่าหรือเล่นมัน

กระบวนการทำงานและอุปสรรค 

เนื่องจากทำภาพประกอบด้วยการใช้เทคนิคสื่อผสม ได้แก่ สีอะคลิลิก สีชอล์กน้ำมัน การตัดแปะ และ Digital Art ทำให้ต้องทดลองเทคนิคหลายครั้งจึงจะลงตัว และด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อนทำให้ต้องใช้เวลาในการทำภาพประกอบแต่ละหน้าค่อนข้างนาน 

วิธีแก้ปัญหา

ทดลองเทคนิคหลาย ๆ ครั้ง และศึกษางานภาพประกอบของศิลปิน นักวาดภาพประกอบท่านอื่น อย่างภาพประกอบในเล่มนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากการทำภาพตัดแปะของ อีริค คาร์ล ผู้ที่เป็นนักวาดภาพประกอบเด็กที่เราชื่นชอบ

เอกลักษณ์ของผลงาน

เอกลักษณ์ของงานเราน่าจะเป็นเรื่องของการพูดถึงปัญหาแรงงานเด็กผ่านมุมมองที่ยังไม่เคยมีใครทำออกมา และมีวิธีการสื่อความหมายแบบที่แทบจะแหวกแนวจากคนอื่นไปเลย อย่างคำในเรื่องก็จะเป็นเสียงของหุ่นยนต์ทั้งหมด ไม่มีเสียงของผู้เล่าเรื่องมีแค่ตอนต้นเรื่องที่เราใส่เพิ่มเพื่อพูดถึงเหตุการณ์โดยรวม เพราะเราอยากให้มันสะเทือนใจแบบไม่ต้องมีใครชี้นำ อยากให้ออกมาเหมือนกับสารคดีที่พาเราไปค้นพบบางอย่างที่เราไม่เคยมองเห็น เลยพยายามทำภาพประกอบให้สื่อความหมายแทนตัวหนังสือให้ได้ เพราะเวลาดูสารคดีส่วนใหญ่เขาก็เล่าเรื่องด้วยภาพ เราอยากให้ออกมาอย่างนั้น

“อย่างที่รู้กันว่างานของเรามันบอกเล่าเรื่องของการใช้แรงงานเด็กที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เราคิดว่ามีคนเยอะมากที่บริโภคบางอย่างจากท้องตลาด ซึ่งของเหล่านั้นต่างผ่านอุตสาหกรรมการผลิตก่อนมาถึงมือพวกเรา เราจ่ายเงินและคิดว่าเงินของเราแลกกับสินค้าที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าเบื้องหลังของอุตสาหกรรมเหล่านั้นอาจจะมีการเอาเปรียบ หรือริดรอนบางอย่างจากแรงงานที่เรามองไม่เห็น และยิ่งเป็นแรงงานเด็ก ที่เราคิดว่าเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว ยิ่งเรียกได้เต็มปากเลยว่า เขาเป็นคนที่เรามองไม่เห็นจริง ๆ ซึ่งพาลาพาลาพาราแห่งนี้ก็เป็นที่ที่ไม่มีใครมองเห็นเช่นกัน แต่ในตอนนี้พาลาพาลาพารากำลังจะเปิดให้คนอื่น ๆ ขึ้นมาดูสิ่งที่เราสร้างสรรค์ และมาเห็นสิ่งที่เขาไม่เคยมองเห็น เด็กที่ถูกใช้แรงงานเหล่านี้ก็คงจะมีคนมองเห็นและตระหนักถึงพวกเขาบ้าง”

สุจารี อ่อนสลุง (จ้า)
thehungry.suja@hotmail.com