แนะนำผลงาน

เด็กชายจิงจิงเชื่อว่ายังมีไดโนเสาร์อยู่บนโลก จึงออกเดินทางตามหามัน แม้ผู้คนรอบข้างจะบอกว่า ‘จะเป็นจริงได้อย่างไร’ ‘เลิกฝันเถอะ’ ’เรื่องแบบนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้หรอก…ก็ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว’ ไม่ว่าใครก็บอกว่าโลกนี้ไม่มีไดโนเสาร์แล้ว แต่จิงจิงยังคงมุ่งมั่นออกตามหา เพราะรู้ดีว่าบนโลกยังมีไดโนเสาร์อยู่ ณ ที่ใดสักแห่ง จนท้ายที่สุดจิงจิงก็พบบางสิ่งที่ทําให้เขายิ้มออกมา

เบื้องหลังแนวคิด

อยากบอกทุกคนผ่านผลงานของเราว่าสิ่งที่เราเชื่อ ต่อให้ใคร ๆ บอกว่ามันไม่มี แต่ถ้าเราเชื่อว่ามีมันก็มี ที่แน่ ๆ คือมีในใจของเราแล้วที่หนึ่ง

แรงบันดาลใจ

ตอนเด็ก ๆ คนรอบข้างชอบบอกว่าสิ่งที่เราเชื่อไม่มีอยู่อีกแล้วในปัจจุบัน หรือไม่เคยมีอยู่จริง เช่น ไดโนเสาร์ นางเงือก นางฟ้า ยูนิคอร์น มังกร สัตว์ประหลาดต่าง ๆ  ตอนเป็นเด็กเราสงสัยว่า เขารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่แล้ว อากาศก็มีอยู่จริงนี่นาทั้งที่เรามองไม่เห็นอากาศ จึงคิดว่าสิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มีอยู่ เมื่อต้องคิดหัวข้อทำธีสิส จู่ ๆ ก็นึกเรื่องนี้ได้จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจ 

กระบวนการทำงานและอุปสรรค 

กระบวนการทำงานไม่ซับซ้อนมาก เมื่อแต่งเนื้อเรื่องได้ก็ทุ่มเทกับการทำภาพประกอบ ทีแรกจะทำภาพประกอบด้วยเทคนิคคอลลาจกระดาษ (paper collage) ด้วยงานมือ แต่อุปสรรคเรื่องสถานการณ์โควิด-19 และภาวะวาดรูปไม่ออกทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นการทำงานภาพประกอบด้วยเทคนิค Digital Art โดยใช้โปรแกรม Adobe Photoshop ซึ่งพบปัญหาจากการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์มาก ๆ โดยเฉพาะไฟล์งานเสียระหว่างกดเซฟ และต้องซื้อตัวแปลงไฟใหม่ 

วิธีแก้ปัญหา

เมื่อไฟล์งานเสียบ่อย ๆ ตอนแรก ๆ เรายังมีกำลังใจ พอไฟล์เสียก็วาดใหม่ บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ทำใหม่ได้ ต่อมาเริ่มท้อจึงต้องเปลี่ยนเทคนิค สาเหตุของไฟล์เสียน่าจะเป็นเพราะไฟล์มีขนาดใหญ่เกินไป เพราะก่อนจะเป็นเทคนิคที่ใช้จริงในหนังสือ เราพยายามทำภาพแบบดิจิทัลคอลลาจ ทำให้งานซ้อนทับกันหลายชั้นขนาดไฟล์จึงใหญ่เกินไป ตอนกดเซฟเครื่องน่าจะประมวลผลไม่ทัน เครื่องค้างจนต้องบังคับปิด ไฟล์จึงเสียหาย สุดท้ายจึงตัดสินใจเปลี่ยนเป็นวาดภาพธรรมดาเพื่อลดขนาดไฟล์ ถึงจะไม่ได้ทำตามเทคนิคที่คิดไว้ตอนแรก แต่ผลงานที่ออกมากก็ถือว่าพอใจมาก

เอกลักษณ์ของผลงาน

น่าจะเป็นที่ชื่อเรื่องเพราะดูให้อิสระมาก ๆ ในการคิดต่อ เวลาบอกชื่อเรื่องกับใครว่าเขียนผลงานชื่อ ‘ที่ใดสักแห่ง’ ทุกคนทำหน้างง แล้วย้อนถามหมดเลยว่าแล้วมันคือที่ไหน ชื่อเรื่องนี้ดูเป็นคำนามธรรมมาก คงจะต่างจากหนังสือสำหรับเด็กทั่วไปที่มักตั้งชื่อเรื่องแบบให้เข้าใจชัดเจนทันที

อธิบายตัวอวตาร

ตัวอวตารของเราบนพาลาลาพารา เป็นเด็กที่ถือเรดาร์ตรวจจับขนาดพกพา มันเป็นเครื่องมือช่วยตามหาสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็น เมื่อใดที่ปรากฏจุดเล็ก ๆ ขึ้นบนจอเรดาร์ แปลว่ามันตรวจพบอะไรบางอย่าง แต่จะใช่สิ่งที่เด็กหรือใครสักคนกำลังตามหาอยู่หรือไม่ ไม่มีใครรู้จนกว่าจะตามเรดาร์ไปดูด้วยตาตัวเอง 

เพราะสิ่งที่เราเชื่อนั้นอยู่ ’ที่ใดสักแห่ง’ ตัวอวตารของเราที่อยู่บนพาลาพาลาพาราจึงคิดค้นเรดาร์ตรวจจับขนาดพกพาขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยตามหาสิ่งเหล่านั้นที่คนทั่วไปมองไม่เห็น เมื่อใดที่จอของเรดาร์ปรากฏจุดเล็ก ๆ ขึ้นมา เท่ากับว่ามันตรวจพบอะไรบางอย่าง แต่จะใช่สิ่งที่ตามหาอยู่หรือไม่ก็ไม่มีใครรู้จนกว่าเราจะตามเรดาร์ไปดูด้วยตาของเราเอง หวังว่าเรดาร์เครื่องเล็ก ๆ นี้จะช่วยพาเธอไปยัง ’ที่ใดสักแห่ง’ ที่มีแต่เธอที่รู้ได้นะ 🙂

สุธีรา กนกรัตนนุกูล (ฟิล์ม)
f.filmms1817@gmail.com