แนะนำผลงาน

โครงการ ‘ปลูกรักษ์กลางใจ’ คือการทดลองจัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่เด็กและเยาวชน ให้รัก หวงแหน และตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น จัดวันที่ 24-29 กุมภาพันธ์ 2563 (รวม 42 ชั่วโมง) ณ โรงเรียนบ้านเขาตากุน อ. ละแม จ. ชุมพร แก่เด็ก 25 คน ผู้จัดโครงการนำเด็กเล่นกับธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ พาเด็กไปรู้จักและทบทวนคุณค่าธรรมชาติที่สัมพันธ์กับชีวิตและชุมชน และนำเด็กใช้ประโยชน์จากพืชในท้องถิ่น (ทำสีย้อมผ้า ทำขนม) เพื่อที่เด็ก ๆ อาจนำประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมในอนาคต 

เบื้องหลังแนวคิด

ธรรมชาติคือผู้ให้กำเนิดและธำรงรักษาทุกสรรพสิ่ง ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้หากปราศจากธรรมชาติ เราอยากปลูกอุดมการณ์ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติลงในใจทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ด้วยการจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายรูปแบบ ให้เด็กได้ทั้งเล่น ฟังนิทาน ได้รับฟังการบรรยายความรู้ ได้ฝึกคิดวิเคราะห์และลงมือปฏิบัติวิธีดูแลธรรมชาติอย่างง่าย 

แรงบันดาลใจ

ปัจจุบันธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างรวดเร็วเพราะการกระทำของมนุษย์ เราตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นอย่างมาก จึงอยากนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เรียนในหลักสูตร ศศ.บ. สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก และการเป็นนิสิตสมาชิก ‘ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ของมหาวิทยาลัย มาสร้างสรรค์กิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงออกแบบโครงการ ‘ปลูกรักษ์กลางใจ’ นี้ เพื่อเป็นสื่อหนึ่งในการปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้เด็กและเยาวชนผ่านการทำกิจกรรมสนุกสนานและได้ความรู้

กระบวนการทำงานและอุปสรรค 

การสร้างสรรค์โครงการนี้ เมื่อเราคิดวัตถุประสงค์และมีรูปแบบกิจกรรมคร่าว ๆ แล้ว ก็เริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นพื้นที่ที่เราจะไปจัดกิจกรรม เพื่อจะได้ออกแบบกิจกรรมที่สอดแทรกความรู้และปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติให้เด็กอย่างแนบเนียน และตรงปัญหาที่พื้นที่ต้องการจริง ๆ เราออกแบบกิจกรรมที่เน้นการลงมือทำ ซึ่งเหมาะสมกับความสามารถของเด็กและเยาวชนอายุ 6-12 ปีจะทำได้ แต่เวลาไปจัดกิจกรรมจริง แผนที่วางไว้ก็ต้องปรับหน้างานใหม่เลย เพราะโรงเรียนบ้านเขาตากุน จังหวัดชุมพร ที่ไปจัดโครงการทดลองนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียนมีน้อย เวลาเรียนหรือทำกิจกรรมเด็กทั้งโรงเรียนจึงทำร่วมกันเสมอทั้งเด็กเล็กจนถึงเด็กโต (6-18 ปี) เราต้องปรับรูปแบบกิจกรรมที่ออกแบบไว้ใหม่ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กหลายช่วงวัย ซึ่งค่อนข้างยากสำหรับเรา อุปสรรคอีกอย่างคือจำนวนทีมงานผู้ไปจัดโครงการมีน้อยเกินไป เรามีทีมงาน 3 คนเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กผู้เข้าร่วมกิจกรรม 25 คน

วิธีแก้ปัญหา

ปรึกษาการออกแบบกิจกรรมกับคุณครูของโรงเรียนบ้านเขาตากุน และอาจารย์ที่ปรึกษา และรีบหาความรู้เกี่ยวกับการออกแบบกิจกรรมเพิ่มเติม ว่ามีกิจกรรมอะไรที่เหมาะกับเด็กทุกช่วงวัย หรือจะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมที่วางไว้ยังไงได้บ้างเวลาไปทำกิจกรรมจริง ในระหว่างจัดกิจกรรมในโครงการ ถึงแม้ว่าทีมงานของเราจะมีน้อย แต่เด็ก ๆ โรงเรียนบ้านเขาตากุนน่ารักมาก เรียบร้อย เชื่อฟังและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมดีมาก รุ่นพี่ของโรงเรียนก็ช่วยกันดูแลน้อง ๆ ที่เด็กกว่า การจัดกิจกรรมในโครงการจึงดำเนินไปอย่างราบรื่นและเราประทับใจมาก

เอกลักษณ์ของผลงาน

โครงการ ‘ปลูกรักษ์กลางใจ’ ของเราเน้นการปลูกจิตสำนึกด้านการรักสิ่งแวดล้อมให้เด็กโดยเฉพาะ เพราะเราเชื่อว่าการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากคนเราต้องมีจิตสำนึกรักธรรมชาติก่อน จึงจะแสดงพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป เราจึงเริ่มปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนในวัยที่พวกเขาประทับใจสิ่งใดก็จะคงอยู่ได้นาน และเอกลักษณ์อีกอย่างคือ เราออกแบบกิจกรรมที่ยืดหยุ่นได้มาก กิจกรรมเราสามารถปรับให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเด็กต่างจังหวัดหรือเด็กในเมือง พื้นที่ใดก็ได้ เพราะเราศึกษาข้อมูลปัญหาของพื้นที่นั้นแล้วออกแบบกิจกรรมให้เด็กเห็นปัญหาอย่างตรงจุดตามที่พื้นที่นั้น ๆ ต้องการได้เลย

อธิบายตัวอวตาร

ตัวอวตารของเราคือ ‘นกเงือกผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการอนุรักษ์’ นกเงือกสร้างรังอยู่เอง ก็คงเหมือนเราที่ค่อย ๆ คิดประดิดประดอย ออกแบบสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการขึ้นมา เพื่อหวังจะปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติให้เด็กและเยาวชนผู้ร่วมโครงการ และหวังว่าพวกเขาจะส่งต่ออุดมการณ์ด้านการอนุรักษ์ให้แผ่ขยายกิ่งก้านสาขา กลายเป็น ‘ป่าอนุรักษ์’ ที่สมบูรณ์สวยงามต่อไป

“นกเงือกเป็นสัตว์ที่สร้างรังเอง เปรียบเสมือนเราตอนจัดทำโครงการที่ประดิดประดอย ออกแบบและสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้กับเด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ และส่งต่ออุดมการณ์ด้านการอนุรักษ์ให้แผ่ขยายกิ่งก้านสาขากลายเป็นป่าอนุรักษ์ที่สวยงามและสมบูรณ์ต่อไป

วศินี รุ่งสว่าง (ใบเฟิร์น)
Jarung.baileyz@gmail.com